ของโบราณ,ของสะสม,ของเก่าโบราณ,ของเก่ามีราคา,ตลาดค้าของเก่า.ของเก่าวันนี้,antiquetoday

ของโบราณทรงคุณค่าของไทย

Thursday, January 25, 2018

Temple of Dawn :Wat Arun :Beautiful temple :Thailand: วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร


 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น “วัดมะกอกนอก” เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ “วัดมะกอกใน”
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น “วัดแจ้ง” 
เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา
ในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นี้มาจากประเทศลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ได้ในปี พ.ศ. ๒๓๒๒โดยโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐาน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง 
และพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร(ร. ๒) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ไว้ในมณฑป  และมีการสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วัน(ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง  ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานคืนไปนครเวียงจันทร์)แต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เสียก่อน
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า “วัดอรุณราชธาราม”
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๓๗ วา ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า”วัดอรุณราชวราราม” ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในสมัยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมด โดยได้โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองในการบูรณะ และโปรดเกล้าฯให้นำเงินที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่าด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า “โรงเรียนทวีธาภิเศก”
 และยังได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์องค์ใหญ่ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใหญ่รวม ๓ งานพร้อมกันเป็นเวลา
๙ วัน คือ งานฉลองพระไชยนวรัฐ งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ งานฉลองพระปรางค์ 
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ในวันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๐ และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้
การเดินทาง
วัดอรุณราชวราราม ตั้งอยู่ที่ 34 ถ.อรุณอัมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ สามารถเดินทางโดย
รถประจำทางสาย 19, 57, 83 ลงป้ายวัดอรุณราชวราราม
ทางเรือข้ามฟากจากท่าเตียน หน้าวัดโพธิ์มายังวัดอรุณฯ หรือนั่งเรือนำเที่ยวมาจากวัดระฆังโฆสิตารามเป็นเส้นทางเรืออีกทางหนึ่ง ต้องการสอบถามเส้นทางรถเมล์ โทร 1348 เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 05.30 – 19.30 น. โทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วัดอรุณราชวราราม โทร 02-8911149

No comments:

Post a Comment