ของโบราณ,ของสะสม,ของเก่าโบราณ,ของเก่ามีราคา,ตลาดค้าของเก่า.ของเก่าวันนี้,antiquetoday

ของโบราณทรงคุณค่าของไทย

Sunday, October 22, 2017

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
National Museum, Bangkok - Entrance.jpg
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ที่ตั้งเขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
การก่อสร้าง
ปีสร้างพ.ศ. 2430
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รายละเอียดอื่น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า (พื้นที่พระราชวังของสมเด็จพระบวรราชเจ้าตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมามีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงตอนตะวันตก อนุสาวรีย์ทหารอาสา และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


 อยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงละครแห่งชาติ ตรงข้ามสนามหลวง ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ และ อาคารมหาสุรสิงหนาท

    ประวัติ

    การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่พระที่นั่งราชฤดีซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุและของแปลก ๆ มาไว้ยังพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ หรือ “รอยัล มิวเซียม” (Royal Museum) มิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม
    ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นที่หอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม ในปัจจุบัน) เรียกว่า "มิวเซียม" หรือ "พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย" โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งนับเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย พิพิธภัณฑสถานตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นเวลา 13 ปี จนกระทั่ง กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต พร้อมกันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นเหตุให้พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ว่างลง พระองค์จึงโปรดฯ ให้ย้ายพิพิธภัฑสถานมาจัดแสดงโดยใช้พื้นที่ของพระราชวังบวรฯ บางส่วน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดฯ ให้มีการปรับปรุงพื้นที่เขตวังหน้าและให้ตัดพื้นที่บางส่วนไปใช้ในราชการทหารด้วย
    ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ เหลือน้อยพระองค์ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรฯ เข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานพระมหามณเฑียร ณ ขณะนั้นให้เป็นโรงทหาร จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ย้ายโรงทหารไปอยู่ที่วังจันทรเกษม (บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ส่วนพระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและหอสมุดพระวชิรญาณเพื่อจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2469 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477
    ในปี พ.ศ. 2510 ได้สร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 2 หลัง คือ "อาคารมหาสุรสิงหนาท" ปัจจุบัน จัดแสดงความเป็นมา ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์ตั้งแต่อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ตลอดจนอิทธิพลอารยธรรมอินเดียสมัยก่อนพุทธศักราช 1800 และ "อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์" ปัจจุบัน จัดแสดงศิลปวัตถุจากอาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตลอดจนจัดแสดงงานประณีตศิลป์ของกรุงรัตนโกสินทร์

    ของจัดแสดง

    แนวทางการจัดแสดง ปัจจุบัน พิพิธภัณสถานแห่งชาติ พระนคร แบ่งการจัดแสดง ออกเป็น 3 หัวเรื่องใหญ่ ๆ คือ
    1. ประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
    2. ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย จัดแสดงตามยุคสมัย คือ
      1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารส่วนหลัง ของ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
      2. สมัยประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารใหม่ 2 หลัง ที่สร้างขนาบสองข้างของหมู่วิมานเมื่อ พ.ศ. 2510 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สมัยก่อนพุทธศักราช 1800 ได้แก่ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย และ สมัยลพบุรีจัดแสดงในอาคารมหาสุรสิงหนาท และส่วนที่ 2 คือ สมัยหลังพุทธศักราช 1800 เป็นต้นมา จนถึง สมัยรัตนโกสินทร์จัดแสดงในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
    3. ประณีตศิลป์ และ ชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงในหมู่พระวิมาน คือ พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก ผ้าโบราณ เครื่องถ้วย เครื่องสูง ราชยานคานหาม อาวุธโบราณ เครื่องใช้ในพิธีพระพุทธศาสนา และ อัฐบริขารของสงฆ์ และ เครื่องการละเล่นต่าง ๆ เช่น หัวโขน หุ่นกระบอก หุ่นเล็ก และหนังใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี ราชรถที่ใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพ คือพระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย และ เครื่องประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ใช้ใน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดแสดงใน อาคารโรงราชรถ
    นอกจากศิลปะโบราณวัตถุแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีโบราณสถานคือ พระที่นั่ง และ พระตำหนักบางองค์ ที่เป็นตัวอย่างของ งานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระตำหนักแดง ที่ประทับ ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 รวมไปถึง พระที่นั่งขนาดย่อม และศาลาทรงไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศาลาสรง ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศนัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบั

    พระที่นั่ง

    พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

    เดิมเคยเป็นห้องสำหรับสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จออกขุนนางและบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ปัจจุบันจัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย
    • สมัยสุโขทัย จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อตั้งอาณาจักร สถาปัตยกรรม การชลประทานการผลิตเครื่องสังคโลก ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19)
    • สมัยกรุงศรีอยุธยา จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง การปกครองและเหตุการณ์ณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ตู้จัดแสดงเหตุการณ์สงครามเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. 2091
    • สมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เครื่องราชบรรณาการ เทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ และการเข้าร่วมสงครามโลก กองทัพทหารไทยอาสาเข้าไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2461

    พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

    ดูบทความหลักที่: พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
    พระพุทธสิหิงค์ ในวันสงกรานต์
    พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 สำหรับประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและภาพเทพชุมนุม
    • พระพุทธสิหิงค์ ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้มาจากลังกาแล้วนำขึ้นไปถวายพระเจ้ากรุงสุโขทัย จากนั้นได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานหลายเมือง เช่น กรุงศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่
    • พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขทัย สำริดกะไหล่ทอง สูง 166 ซม.
    • ภาพเขียนพุทธประวัติ ตอนเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

    พระตำหนักแดง

    ดูบทความหลักที่: ตำหนักแดง
    เดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางพระองค์เล็ก และก็ได้สร้างพระตำหนักเขียวขึ้นเพื่อถวายเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งเป็นพระพี่นางพระองค์ใหญ่
    เมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ แล้ว พระธิดา คือ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ได้ทรงครอบครองตำหนักแดงต่อมา จนกระทั่งทรงย้ายไปประทับกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยผู้เป็นพระภัศดา (ในขณะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
    และเมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงย้ายที่ประทับจากพระราชวังเดิม กรุงธนบุรีมาประทับในพระบรมมหาราชวังพร้อมกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ มีพระราชโอรสสามพระองค์ สิ้นพระชนม์หนึ่งพระองค์ เหลือ ๒ พระองค์คือ
    ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าชายมงกุฏ (ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
    ๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑามณี (ได้รับพระราชทานพระบวรราชาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว )
    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒ ได้เสด็จออกไปประทับอยู่พระราชวังเดิมกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุที่ว่าในระยะเวลาช่วงนั้น ภายในพระบรมมหาราชวังมีการเปลี่ยนแปลงให้รื้อตำหนักเครื่องไม้ในพระราชวังหลวงสร้างเป็นตำหนักตึก รัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานตำหนักแดงของเดิมให้ไปปลูกถวาย ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
    เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สวรรคตในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ายที่ประทับจากพระราชวังเดิม กรุงธนบุรีมาอยู่ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อตำหนักแดงจากพระราชวังเดิมให้มาสร้างใหม่ที่ท้ายพระบวรราชวัง (บริเวณที่ตั้งของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน) เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระตำหนักแดงไม่ได้รับการดูแลจึงชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา จนกระทั่งถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ปี พ.ศ. 2470  สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จประพาสพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระตำหนักแดงชำรุดทรุดโทรม จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในการปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2471 โดยสมเด็จพระพันวัสสาฯ ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระตำหนักแดงด้วยพระองค์เอง
    ต่อมาในปี 2506 ได้มีการปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยได้ย้ายพระตำหนักแดง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่พระวิมานมาปลูกที่หลังพระที่นั่งศิวโมกขพิมานดังที่เห็นในปัจจุบัน
    การจัดแสดง ภายในพระตำหนักแดงมีการจัดแสดงสิ่งของ เครื่องใช้ของชนชั้นสูง ส่วนใหญ่เป็นศิลปวัตถุที่เป็นเครื่องประดับบ้าน เช่น ตู้เท้าสิงห์ โต๊ะและเก้าอี้เท้าสิงห์ โถเบญจรงค์ หีบใส่ผ้าของชนชั้นสูง และศิลปวัตถุของผู้ครอบครองตำหนัก ได้แก่ พระแท่นบรรทม และฉลองพระบาทของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 โคมส่องเสด็จของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

    หมู่พระวิมาน

    พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรงใช้เป็นที่เสด็จออก ปัจจุบันใช้เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษหมุนเวียนตลอดปี
    • ห้องมุขกระสัน ภายในห้องมหรรฆภัณฑ์ซึ่งเก็บรักษาและจัดแสดงเครื่องทองที่ได้จากการขุดค้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเครื่องทองในสมัยรัตนโกสินทร์
    • พระพุทธรูปบุทอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 24)

    พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร

    จัดแสดงเครื่องราชยาน คานหาม สัปคับ เสลี่ยงกง เสลี่ยงหิ้วและสีวิกา
    • พระที่นั่งราเชนทรยาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก กว้าง 103 ซม. ยาว 191 ซม. สูง 415 ซม. ใช้สำหรับราชพิธี

    พระที่นั่งทักษิณาภิมุข

    เคยเป็นที่ประทับในสมัยสมเด็จพระบวรเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องการละเล่น หุ่น หัวโขน หนังใหญ่ เครื่องแต่งกาย ละคร เครื่องกีฬาไทย หมากรุกงา ปี้กระเบื้อง ตัวหวย กอ ขอ
    • ตัวหนังใหญ่ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ทำด้วยหนังวัว สูง 160 กว้าง 141 ซม

    พระที่นั่งวสันตพิมาน

    ชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องถ้วยล้านนา ลพบุรี เบญจรงค์ลายน้ำทอง เครื่องถ้วยญี่ปุ่น และเครื่องถ้วยยุโรป
    • ชามเบญจรงค์ ศิลปะไทย – จีน สมัยอยุธยาดินเผาเนื้อกระเบื้อง

    พระที่นั่งวสันตพิมาน

    ชั้นบน จัดแสดงงาช้าง งาช้างจำหลัก และเครื่องใช้ที่ทำจากงาช้าง
    • งาช้างแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ศิลปะพม่า (พุทธศตวรรษที่ 25) สูงพร้อมฐาน 8. ซม.

    พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข

    จัดแสดงของใช้ประดับมุก เครื่องมุกส่วนใหญ่เป็นของสมเด็จ ฯ กรมพระนครสวรรค์พินิต ประทานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
    • เตียบ สมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 25) หวายแลไม้ลงรักประดับมุข ปากกว้าง 49.5 ซม. สูงพร้อมฝา 62 ซม.

    พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข

    จัดแสดงหุ่นจำลองม้าและช้างทองเครื่องคชาธารอาวุธภัณฑ์สมัยโบราณและกลองศึก

    เกี่ยวกับการเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

    ระเบียบปฏิบัติในการเข้าชม

    ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องแต่งกายให้เป็นที่เรียบร้อยและต้องไม่ปฏิบัติดังต่อไปนี้
    1. มิควรนำหีบห่อและสิ่งใด ๆ ที่อาจบรรจุปกคลุมปิดบังหรือซ่อนเร้นสิ่งของในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติออกไป เข้าไปในห้องจัดตั้งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ
    2. มิควรก่อความรำคาญด้วยประการใด ๆ แก่เจ้าหน้าที่หรือผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
    3. ห้ามจับต้องหรือหยิบฉวยสิ่งของที่จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
    4. ห้ามสูบบุหรี่ในห้องที่จัดตั้งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
    5. ห้ามขีด เขียน จารึก หรือทำความสกปรกแก่สิ่งของและอาคารสถานที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
    6. มิควรบันทึกภาพหรือเขียนรูปสิ่งของที่จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมิได้อนุญาตจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

    การบริการ

    • บริการนำชมเป็นหมู่คณะ โดยการนัดหมาย
    • บริการสื่อโสตทัศนศึกษา โดยการนัดหมาย
    • บริการให้ยืมนิทรรศการหมุนเวียน โดยการนัดหมาย
    • บริการให้ยืมภาพถ่าย โดยการนัดหมาย
    • บริการห้องสมุดทุกวันยกเว้นวันจันทร์-อังคาร (วันหยุดของพิพิธภัณฑ์)
    • บริการนำชมคนไทยทุกวันอาทิตย์ 2 รอบ ดังนี้ เวลา 10.00 น. และ 13.30 น. โดยอาสาสมัครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
    • บริการนำชมภาษาต่างประเทศ โดยกลุ่มสตรีอาสาสมัคร
      • วันพุธ เวลา 09.30 น. ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น
      • วันพฤหัสบดี เวลา 09.30 น. ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน
    เวลาทำการ 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร
    วิกิพีเดีย 
    https://goal90antique.blogspot.com/

    No comments:

    Post a Comment