ของโบราณ,ของสะสม,ของเก่าโบราณ,ของเก่ามีราคา,ตลาดค้าของเก่า.ของเก่าวันนี้,antiquetoday

ของโบราณทรงคุณค่าของไทย

Tuesday, October 17, 2017

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ น่าน


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ภายในคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน (หอคำ) ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน

    ประวัติ

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ พระเจ้าน่าน ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2446 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น มีมุขด้านหน้า หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด บนเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ครั้นเมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงพิราลัย เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงได้มอบหอคำหลังนี้พร้อมที่ดินให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้น กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปี พ.ศ. 2517 และประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530

    การจัดแสดง

    อาคารชั้นล่าง

    ประกอบด้วยส่วนหน้ามุขใช้เป็นห้องจำหน่ายบัตรเข้าชม หนังสือด้านวิชาการ สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึกอื่นๆ ส่วนโถงกลางรวมถึงปีกอาคารด้านทิศเหนือ ใช้แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาว และชาวไทยพื้นเมืองภาคเหนือ และส่วนหลังซึ่งส่วนปีกอาคารด้านทิศเหนือ ใต้ และเฉลียง จัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเครื่องใช้ของเผ่าชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดน่าน

    อาคารชั้นบน

    ประกอบด้วยส่วนหน้ามุขซึ่งใช้เป็นห้องจัดนิทรรศการพิเศษ พื้นที่ส่วนกลางเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ใช้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของเมืองน่าน และส่วนหลังซึ่งเป็นส่วนปีกของอาคารด้านทิศเหนือ ใต้ และเฉลียงหลัง จำวน 6 ห้อง ใช้จัดแสดงด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองน่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

    โบราณวัตถุที่สำคัญ

    • งาช้างดำ
    • หีบพระธรรมไม้แกะสลัก ฝีมือช่างสกุลน่าน
    • สมุดข่อยอาณาจักรหลักคำกฎหมายเมืองน่าน
    • ครุฑยุคนาค ฝีมือช่างล้านนา
    • ศิลาจารึกหลักที่ 64 อักษรสุโขทัย กล่าวถึงการกระทำสัตย์สาบานช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดศึกสงครามระหว่างเจ้าพระยาผากอง เจ้าผู้ครองนครน่าน และพระมหาธรรมราชาที่ 2 กษัตริย์แห่งสุโขทัย
    • ศิลาจารึกหลักที่ 74 อักษรธรรมล้านนา กล่าวถึงพญาพลเทพกุรไชย เจ้าเมืองน่าน ได้ทำการบูรณะพระมหาวิหารให้วัดหลวงกลางเวียง (วัดช้างค้ำ)

    งาช้างดำ


    งาช้างดำ

    งาช้างดำ มีลักษณะเป็นงาปลียาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนใหญ่ที่สุด 47 เซนติเมตร โพรงตอนโคนลึก 14 เซนติเมตร สีออกน้ำตาลเข้มไม่ดำสนิท มีจารึกอักษรล้านนาว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" หรือประมาณ 18 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าเป็นงาข้างซ้ายเพราะมีรอยเสียดสีกับงาชัดเจน ชาวจังหวัดน่านถือว่า งาช้างดำเป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่านและถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของจังหวัดน่าน เป็นวัตถุโบราณที่หายากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันงาช้างดำเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน

    ความเป็นมาของงาช้างดำนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมา 2 เรื่อง

    เรื่องแรก ในสมัยพระเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน (พ.ศ. 2353-2368) มีพรานคนเมืองน่านได้เข้าป่า ล่าสัตว์เข้าไปถึงเขตแดนระหว่างไทยกับเชียงตุงได้พบซากช้างตัวดำสนิทตายในห้วย พอดีกับพรานชาวเชียงตุงมาพบด้วยพรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำกันคนละข้าง ต่างคนก็นำมาถวายเจ้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองเชียงตุง ได้ส่งสารมาทูลเจ้าสุมนเทวราชว่า "ตราบใดงาช้างดำคู่นี้ไม่สูญหาย เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป..."

    เรื่องที่สอง เมืองน่านยกทัพไปล้อมเมืองเชียงตุงหลายเดือน ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงเดือดร้อน โหรเมืองเชียงตุงทูลเจ้าเมืองว่า "เป็นเพราะมีงาช้างดำอยู่ด้วยกัน ทางที่ดีควรแยกออกจากกัน..." จึงนำงาช้างดำกิ่งหนึ่งมอบให้กองทัพเมืองน่านแล้วกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรกันตลอดกาล ความสำคัญของงาช้างดำนี้เชื่อกันว่า พญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 6 ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ได้ทำพิธีสาปแช่งเอาไว้ว่า "ให้งาช้างดำนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ผู้ใดจะนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวมิได้ ต้องไว้ที่หอคำหรือวังเจ้าผู้ครองนครน่านเท่านั้น..."

    ในส่วนของ ครุฑ ที่แบกรับงาช้างดำไว้นั้น แกะสลักจากไม้สักทั้งท่อนโดยช่างสกุลน่าน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 เนื่องจากช่วงนั้นมีข่าวว่าเจ้าเมืองฝ่ายเหนือบางเมืองคิดแข็งข้อก่อการกบฏต่อราชวงค์จักรี เจ้าผู้ครองนครน่านจึงสั่งให้ทำพระครุฑพ่าห์ขึ้นมาแบกรับงาช้างดำวัตถุคู่บ้านคู่เมืองไว้ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า "นครน่านในยุคนั้นยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย..."

    การบริการ

    เวลาทำการ

    เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
    หยุดทำการวันจันทร์และอังคาร

    ค่าธรรมเนียม

    ชาวไทย 20 บาท
    ชาวต่างประเทศ 100 บาท
    ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป นักเรียนในเครื่องแบบ นักบวชทุกศาสนา ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม

    ที่ตั้ง

    ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
    โทรศัพท์ 0-5471-0561, 0-5477-2777
    โทรสาร 0-5477-2777

    วิกิพีเดีย 


    No comments:

    Post a Comment