ของโบราณ,ของสะสม,ของเก่าโบราณ,ของเก่ามีราคา,ตลาดค้าของเก่า.ของเก่าวันนี้,antiquetoday

ของโบราณทรงคุณค่าของไทย

Friday, October 20, 2017

การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
King Bhumibol Adulyadej's golden urn.jpg
พระโกศพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
วันที่13 ตุลาคม 2559 (สวรรคต)
26 ตุลาคม 2560 (พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ)
สถานที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องราชวงศ์ไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15.52 นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์ถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี 

สำนักพระราชวังมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึง 21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง  คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตและวันหยุดราชการเพื่อให้ประชาชนน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และได้กำหนดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้นในวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 รวมถึงได้ประกาศให้วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ


พระอาการประชวร

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเพื่อมาตรวจพระวรกายของคณะแพทย์ ผลการตรวจพบว่าพระโลหิต อุณหภูมิพระวรกาย ความดันพระโลหิตพระหทัย และระบบการหายพระทัยเป็นปกติ

ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ประชวร ว่ามีพระปรอทต่ำ หายพระทัยเร็ว มีพระเสมหะ พระปับผาสะซ้ายอักเสบ มีพระโลหิตเป็นกรด และพบว่ามีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะเล็กน้อย
ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559 มีความดันพระโลหิตลดต่ำลง คณะแพทย์จึงรักษาด้วยพระโอสถปฏิชีวนะ และใช้สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อฟอกพระโลหิตระยะยาว แต่มีพระความดันพระโลหิตต่ำจึงใช้เครื่องช่วยหายพระทัยและมีการฟอกไต พระอาการไม่คงที่ ก่อนที่พระอาการจะเริ่มทรุดลงเรื่อย ๆ ทรงมีการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปกติ และมีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 38 ความว่า
วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ความดันพระโลหิตลดต่ำลงอีก พระชีพจรเร็วขึ้น ร่วมกับภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก ผลของการถวายตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่า มีภาวะการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปรกติ คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะและแก้ไขภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรด ตลอดจนถวายพระโอสถควบคุมความดันพระโลหิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) พระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด
วันที่ 12 ตุลาคม พระราชโอรส-ธิดาทั้งสี่พระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธออีกสองพระองค์เข้าเยี่ยมพระอาการประชวร โดยนับตั้งแต่สำนักพระราชวังได้แถลงการณ์พระอาการประชวร ฉบับที่ 37 ประชาชนจำนวนมากได้เดินทางมายังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อถวายพระพรให้ทรงหายจากพระอาการประชวร กิจกรรมสำคัญคือการสวดบทโพชฌังคปริตร ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นบทสวดมนต์ปัดเป่าโรคร้าย พร้อมทั้งมีการเชิญชวนประชาชนสวมเสื้อสีชมพูซึ่งเป็นสีเสริมดวงพระราชสมภพและมีการร่วมกันถวายพระพรทั่วทั้งสื่อสังคม วันที่ 13 ตุลาคม พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสด็จฯ มายังโรงพยาบาลศิริราช

สวรรคต

สำนักพระราชวังมีประกาศเรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ความว่า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดี ที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี
— สำนักพระราชวัง 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559
มีคลิปศาสตราจารย์ นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ แพทย์ผู้อยู่ถวายการรักษาขณะสวรรคต ให้สัมภาษณ์ว่าเสด็จสวรรคตด้วยภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ถูกเลิกจ้าง โดยคำสั่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุเหตุผลว่า "...เนื่องจากได้มีการนำข้อมูลของผู้ป่วยไปเผยแพร่ในที่สาธารณะ"[

เคลื่อนพระบรมศพสู่พระบรมมหาราชวัง

ขบวนเคลื่อนพระบรมศพฯ จากโรงพยาบาลศิริราช ไปยังพระบรมมหาราชวัง
วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 16.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเคลื่อนพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปพระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา โดยขบวนเคลื่อนออกจากโรงพยาบาลศิริราชทางถนนอรุณอมรินทร์ ผ่านไปยังแยกอรุณอมรินทร์ขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เคลื่อนต่อไปถนนราชดำเนินในสู่พระบรมมหาราชวังทางถนนหน้าพระลานที่ประตูพิมานไชยศรีและประตูเทวาภิรมย์

ประชาชนถวายน้ำสรงพระบรมศพ

ตั้งแต่เวลา 08.00–14.00 น. สำนักพระราชวัง ให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

ประชาชนถวายสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์


ประชาชนต่อแถวเพื่อรอเข้าสักการะพระบรมศพ
สำนักพระราชวัง ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และได้จัดสมุดลงนามถวายความอาลัย ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

ประชาชนถวายสักการะพระบรมศพ

สำนักพระราชวังได้รับพระราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เวลา 05.00–21.00 น. และร่วมบริจาคเงินสมทบทุน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ยกเว้นกรณีต่อไปนี้ ซึ่งมีประกาศให้งดการถวายสักการะพระบรมศพจากสำนักพระราชวัง
วันที่พระราชพิธีหรืองานสำคัญอ้างอิง
1 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน)[20]
1 มกราคม พ.ศ. 2560วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2560[21]
20 – 21 มกราคม พ.ศ. 2560พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน)[22]
ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ สำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมมีประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพรวม 12,739,531 คน รวมระยะเวลาที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ 337 วัน

การแสดงความอาลัย

ภายในประเทศ

พระบรมฉายาลักษณ์ประดับไว้เพื่อการแสดงความอาลัย ณ ท้องสนามหลวง
ธงครึ่งเสาที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แสดงความเสียใจต่อการสวรรคต ขอให้ประชาชนร่วมถวายความอาลัยและดำเนินชีวิตต่อไป
รัฐบาลประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา มีกำหนด 30 วัน และให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 1 ปี เริ่มนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาไว้ทุกข์ต่อไปอีก 14 วัน (ยกเว้นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม และในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เฉพาะงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 )รวมทั้งยังมีประกาศขอความร่วมมือให้งดจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ เป็นเวลา 30 วัน ส่งผลให้การแสดงรื่นรมย์ต่าง ๆ เช่น คอนเสิร์ต งานมหกรรม กิจกรรมกีฬา การแสดงต่าง ๆ ต่างยกเลิกหรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด รวมทั้งสถานบันเทิงต่าง ๆ หลายแห่งปิดการให้บริการชั่วคราว และยังมีการประกาศให้วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันหยุดราชการด้วย

การแสดงความอาลัยในสื่อสังคม

เว็บไซต์ในประเทศไทยเปลี่ยนสีเป็นขาว-ดำหรือสเกลสีเทา เพื่อแสดงความอาลัย
ในสื่อสังคมต่าง ๆ มีการแสดงความอาลัยเป็นจำนวนมาก เช่นในเฟซบุ๊ก มีผู้ใช้งานจำนวนมากเปลี่ยนภาพผู้ใช้เพื่อแสดงความอาลัย เพจดังต่าง ๆ ลงภาพแสดงความอาลัยและงดลงเนื้อหาบันเทิงเป็นการชั่วคราว รวมทั้งทางเฟซบุ๊กยังประกาศงดโฆษณาในเว็บไซต์ภาคภาษาไทยอย่างไม่มีกำหนดเพื่อแสดงความอาลัย, กูเกิลประเทศไทยมีการเปลี่ยนดูเดิลเป็นสีดำเพื่อแสดงความอาลัย, ยูทูบงดโฆษณา 7 วันเช่นกัน, ดาราและนักแสดงต่างร่วมกันแสดงความอาลัยผ่านทางอินสตาแกรมและทวิตเตอร์นอกจากนี้เว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เปลี่ยนสีเว็บเป็นขาวดำ  เพื่อแสดงความอาลัยด้วย จนกระทั่งภายหลังได้ปรับสีเว็บเข้าสู่สีปกติ โดยมีการประดับริบบิ้นสีดำที่มุมหน้าจอ
และชาวต่างประเทศ อาทิ โชโกะ คาริยาซากิ โยชิมิ โทคุอิ ฮัม อึนจอง ถวายความอาลัยผ่านยูทูบและอินสตาแกรม

การดำเนินการของสถานีโทรทัศน์ภายหลังการสวรรคต

สถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยทุกช่องออกอากาศรายการพิเศษจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เป็นการฉายสารคดีพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตลอดรัชกาล สลับกับการแถลงการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสวรรคต วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 มีการถ่ายทอดสดการเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระที่นั่งพิมานรัตยาในพระบรมมหาราชวัง และพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพ กระทั่งเวลา 00.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จึงเริ่มการออกอากาศรายการต่าง ๆ ตามปกติ เดิมพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด แถลงว่า รัฐบาลขอความร่วมมืองดรายการตามปกติและรับสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 30 วัน ก่อนถูกยกเลิกไป สำนักงาน กสทช. ได้ขอความร่วมมือให้งดรายการรื่นเริงต่าง ๆ เป็นเวลา 30 วัน
ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สำนักงาน กสทช. ออกแนวปฏิบัติในการนำเสนอรายการทางโทรทัศน์ โดยในช่วง 15-30 วันหลังการสวรรคต ให้สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ระมัดระวังและตรวจสอบการนำเสนอเนื้อหา การวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งแสดงถึงหรือกล่าวถึงความขัดแย้งในด้านต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม และขอความร่วมมือในการปรับสีรายการต่าง ๆ ไม่ให้ฉูดฉาดจนเกินไป ในช่วง 31-37 วันถัดมา สามารถนำรายการเด็ก รายการทั่วไป และรายการแนะนำเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ออกอากาศได้ โดยมีการควบคุมเนื้อหา และตั้งแต่วันที่ 38-100 หลังการสวรรคต สามารถนำรายการแนะนำเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกอากาศได้ แต่ไม่ควรมีเรื่องของความรุนแรง เรื่องทางเพศ และถ้อยคำหยาบคาย
ต่อมาในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560 สำนักงาน กสทช. ได้ออกแนวปฏิบัติในการนำเสนอรายการทางโทรทัศน์ เมื่อล่วงพ้นระยะเวลา 100 วัน หลังการเสด็จสวรรคต โดยให้นำรายการปกติมาออกอากาศได้ แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศ หลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการกำกับเนื้อหารายการผังรายการ และการจัดระดับความเหมาะสมของรายการตามที่ กสทช. กำหนดโดยเคร่งครัด รวมทั้งควรสอดแทรกรายการที่เกี่ยวกับการพระราชกรณียกิจ แนวความคิด และปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสารคดีเทิดพระเกียรติพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากนี้ กรณีที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และพระราชพิธีต่าง ๆ รวมถึงรายการ "ศาสตร์แห่งพระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" จากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ให้ทุกสถานีเชื่อมโยงสัญญาณในทันที สถานีโทรทัศน์ยังรายงานกรณีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าถวายความเคารพพระบรมศพอาทิ หมี เสว่ ดินีช เมธา

ระดับนานาชาติ

ดูบทความหลักที่: ปฏิกิริยาต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ผลกระทบ

ประชาชนบางส่วนโจมตีผู้ไม่สวมเสื้อดำ แสดงการไว้ทุกข์ เกิดเหตุการณ์ล่าแม่มด บางส่วนมีพฤติกรรมรุนแรง ถึงขั้นประจานทางสื่อออนไลน์ จากเหตุการณ์ดังกล่าว พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอให้ประชาชนที่ไม่สามารถจัดหาเสื้อผ้าสีดำหรือสีขาวมาร่วมแสดงความอาลัยได้ ติดริบบิ้นหรือโบสีดำบนหน้าอกเสื้อหรือที่แขนเสื้อบริเวณต้นแขนเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ความอาลัยแทน
นอกจากนี้ ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ปิดล้อมบ้านของลูกชายเจ้าของร้านน้ำเต้าหู้ที่โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าโพสต์นั้นมิได้มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าควบคุมตัวชายคนนั้นในข้อหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์คล้ายกันในจังหวัดพังงา

รายการผู้แทนต่างประเทศที่ร่วมพระราชพิธีพระบรมศพ

ผู้นำและประมุขของแต่ละประเทศ ตลอดจนผู้แทนพระองค์หรือผู้แทนพิเศษของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จพระราชดำเนิน เสด็จ และเดินทางมาร่วมวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และลงพระนามและลงนามแสดงความอาลัย ณ ศาลาว่าการพระราชวัง และอาคารสำนักราชเลขาธิการ มีรายพระนามและรายนามดังต่อไปนี้

พระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพ


พระราชพิธีถวายน้ำสรงบรมพระศพ
วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 17.00 นาฬิกาโดยประมาณ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินยังพระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวังในการถวายสรงน้ำพระบรมศพ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จเข้าสู่ภายในพระฉาก ซึ่งพระบรมศพบรรทมอยู่บนพระแท่น
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยราชสักการะพระบรมศพ ทรงรับขวดน้ำพระสุคนธ์ โถน้ำอบไทยและโถน้ำขมิ้น ถวายสรงที่พระบาทพระบรมศพ ต่อจากนั้น ทรงหวีเส้นพระเจ้าพระบรมศพขึ้นครั้งหนึ่ง หวีลงอีกครั้งหนึ่ง แล้วหวีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงหักพระสางนั้นวางไว้ในพานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่ จากนั้นเสด็จฯ ไปทรงถวายซองพระศรีบรรจุดอกบัวและธูปเทียน แผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ พระชฎาห้ายอดวางข้างพระเศียรพระบรมศพ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระบรมศพลงสู่หีบ ทหารราชวัลลภรักษาพระองค์เชิญหีบพระบรมศพไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จตาม ตำรวจหลวงเชิญหีบพระบรมศพขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าเบื้องหลังพระฉากและพระแท่นสุวรรณเบญจดล ประกอบพระลองทองใหญ่ ภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องสูงหักทองขวาง บังแทรก ชุมสาย ต้นไม้ทองเงิน ณ มุขตะวันตก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เสร็จแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงวางพวงมาลาที่หน้าพระโกศพระบรมศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยและเครื่องราชสักการะพระบรมศพ ทรงกราบ แล้วทรงจุดเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์เที่ยวละ 10 รูป ทรงทอดผ้าไตรเที่ยวละ 10 ไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ เมื่อครบ 100 รูป ทรงหลั่งทักษิโณทก ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินไปที่หน้าพระโกศพระบรมศพ ทรงกราบ และเสด็จพระราชดำเนินไปที่หน้าพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่ประดิษฐานอยู่บนพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่หน้าพระแท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม ณ มุขหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จากนั้น เสด็จลงบันไดมุขกระสันด้านทิศเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพฯ

หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพฯ

สำนักพระราชวัง กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้
พระราชพิธีระยะเวลาวันที่
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร7 วัน19 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร15 วัน27 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร50 วัน1 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร100 วัน20 – 21 มกราคม พ.ศ. 2560
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบรอบ 1 ปี วันสวรรคต365 วัน13 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พิธีถวายเลี้ยงภัตตาหารเช้าและเพลแด่พระพิธีธรรม

ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพฯ ในการถวายภัตตาหารเช้าและเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ระหว่างการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ ครบทั้ง 100 วัน ถึง วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เวลา 7 นาฬิกา และเวลา 11 นาฬิกา

พระพิธีธรรมพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ

ตั้งแต่คืนวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพฯ ในการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพตลอด 100 วัน ถึงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในเวลา 15 นาฬิกา เวลา 19 นาฬิกา และเวลา 21 นาฬิกา

การบำเพ็ญกุศลพิธีกงเต็กถวายพระบรมศพ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะสงฆ์จีนนิกาย คณะสงฆ์อนัมนิกาย นายกองเอก เจริญ สิริวัฒนภักดี และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี พร้อมครอบครัวสิริวัฒนภักดี สมาคมนักธุรกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลพิธีกงเต็ก ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560 วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 และวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ตามลำดับ

การให้หน่วยงานหรือบุคคลต่าง ๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ หลังจากการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน)

หีบพระบรมศพ

นายพรเทพ สุริยา เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ กล่าวว่า สำนักพระราชวังได้ติดต่อให้จัดสร้างหีบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสร้างหีบพระบรมศพทรงหลุยส์ผสมทองคำแท้ 100% จากแผ่นไม้สักทองอายุมากกว่า 100 ปีขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียวไม่มีรอยต่อ ขนาดความกว้าง 29 นิ้ว ความยาว 2.15 เมตร วัดรอบหีบทั้งใบ 229 นิ้ว ทั้งนี้ใช้เวลาประกอบทันทีหลังการเสด็จสวรรคต เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หีบพระบรมศพดังกล่าวแกะสลักลายกุหลาบไทยผสมผสานลายหลุยส์ รอบหีบปิดด้วยทองคำแท้ ภายในหีบพระบรมศพ ใช้ผ้าไหมสีงาช้าง มีที่รองที่บรรทม และซีลภายในเพื่อความแข็งแรง ส่วนผ้าคลุมเป็นผ้าไหมปักดิ้นทอง ซึ่งทางสุริยาเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด

การประโคมย่ำยาม

ในการประโคมงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีหน่วยงานเข้าร่วมประโคม วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะและกลองมโหรทึก) และวงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใช้ชื่อว่า "เย็นศิระ เพราะพระบริบาล" จัดขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จไปทรงเปิดนิทรรศการด้วยพระองค์เอง ภายในนิทรรศการมีการจัดนิทรรศการทั้งหมด 5 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 บุญของแผ่นดินไทย โซนที่ 2 พระราชาผู้ทรงธรรม (ทำ) โซนที่ 3 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ โซนที่ 4 พระมิ่งขวัญชาวไทย และโซนที่ 5 ร้อยใจไทย นอกจากนั้นในบริเวณจัดแสดงนิทรรศการยังมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตด้วย
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เจ้าหน้าที่กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่กำลังรอคิวเข้าสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า นิทรรศการนี้จะเปิดให้เข้าชมในวันที่ 15 พฤษภาคม เป็นวันสุดท้าย และวันที่ 16 พฤษภาคม จะให้คณะรัฐมนตรีเข้าชมอีกครั้งก่อนจะปิดนิทรรศการ
โดยสาเหตุที่ต้องปิดนิทรรศการเร็วขึ้นเนื่องจากกรมศิลปากรกังวลเรื่องการก่อสร้างพระเมรุมาศ ถ้าต้องปิดตามกำหนดเดิมวันที่ 15 มิถุนายน แล้วค่อยส่งคืนพื้นที่จะทำให้งานล่าช้าหรืออาจเสร็จไม่ทัน เพราะขณะนี้เริ่มจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และยังต้องใช้เวลารื้อถอนประมาณ 15 วัน ซึ่งงานก่อสร้างพระเมรุมาศเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก จึงจำเป็นต้องปิดการเข้าชมให้เร็วกว่าที่กำหนดไว้ 1 เดือน ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าชมแล้วประมาณ 4 แสนคน สำหรับที่ตั้งนิทรรศการเย็นศิระฯ แห่งใหม่ยังไม่ได้กำหนด แต่จะเก็บรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือที่ไว้จัดแสดงไว้ก่อน ถ้าได้สถานที่ที่เหมาะสม ก็จะนำกลับไปติดตั้งตามเดิม
และภายหลังจากที่รัฐบาลได้จัดนิทรรศการนี้บริเวณท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล่าสุดมีจำนวนผู้เข้าชม 395,050 คน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย และหลังจากนี้กรมศิลปากรจะใช้พื้นที่ภายในท้องสนามหลวงเป็นเส้นทางขนส่งวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเร่งก่อสร้างพระเมรุมาศพร้อมสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศให้แล้วเสร็จตามกำหนด รัฐบาลจึงได้ปิดให้เข้าชมนิทรรศการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีการจัดทำนิทรรศการในรูปแบบเสมือนจริง ผ่านทางเว็บไซต์ เย็นศิระ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เพื่อจำลองบรรยากาศของนิทรรศการที่จัดแสดง ณ ท้องสนามหลวง รวมทั้งผู้เข้าชมและประมวลภาพกิจกรรมต่าง ๆ จนถึงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ให้ประชาชนได้เข้าชมและเรียนรู้เรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งเก็บบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ดูบทความหลักที่: พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะดำเนินการก่อสร้าง

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดเพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยรัฐบาลกำหนดวันพระราชพิธีระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยได้ประกาศให้วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ
สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีฯ นั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน เป็นต้น ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธีนั้น ได้มีการซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย พระที่นั่งราเชนทรยาน และพระวอสีวิกากาญจน์ เพื่อพร้อมใช้ในพิธีจริง นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างราชรถ ราชยานขึ้นมาใหม่ คือ ราชรถปืนใหญ่และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย รวมทั้งประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงให้มีความร่วมสมัย คาดการณ์ว่าการจัดสร้างพระเมรุมาศจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์วินิจฉัยในการจัดสร้างพระเมรุมาศ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานอำนวยการพระราชพิธี

หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

คณะรัฐมนตรีได้ร่างหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพ และกำหนดจำนวนริ้วขบวนพระอิสริยยศไว้ดังนี้
  • วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
    • เวลา 17.30 น. พระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
  • วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560
    • เวลา 07.00 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมศพออกพระเมรุ ท้องสนามหลวง โดยริ้วกระบวนที่ 1 ริ้วกระบวนที่ 2 และริ้วกระบวนที่ 3
    • เวลา 17.30 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
    • เวลา 22.00 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง
  • วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560
    • เวลา 08.00 น. พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ เชิญพระบรมอัฐิสู่พระบรมมหาราชวัง โดยริ้วกระบวนที่ 4
  • วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560
    • เวลา 17.30 น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
  • วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560
    • เวลา 10.30 น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยริ้วกระบวนที่ 5
    • เวลา 17.30 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (วัดประจำรัชกาลที่ 9 โดยนิตินัย) โดยริ้วกระบวนที่ 6

ของที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ

หนังสือที่ระลึกงานพระบรมศพ

หนังสือพระราชทาน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์หนังสือพระราชทาน สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวงศ์ องคมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้ที่เข้าร่วมในการพระราชพิธีเป็นที่ระลึกอนุสรณ์วิทยาทาน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ครบ 7 วัน 15 วัน 50 วัน และ 100 วัน

หนังสือที่จัดทำโดยรัฐบาล

ทางรัฐบาลและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงาน องค์กรในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือเพื่อเทิดพระเกียรติเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เห็นชอบให้จัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจำนวน 11 รายการ ดังนี้[99]
  • หนังสือจดหมายเหตุงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร
  • หนังสือจดหมายเหตุงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉบับประชาชน
  • หนังสือจดหมายเหตุงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากหนังสือพิมพ์ ฉบับสื่อมวลชน
  • หนังสือจดหมายเหตุและซีดีบทเพลงแสดงความอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • หนังสือจดหมายเหตุกานท์กวีคีตการปวงประชา น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จดหมายเหตุทั้ง 4 เล่มนี้จัดพิมพ์โดย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร
  • หนังสือพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์และพระเมรุ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช' 'จัดพิมพ์โดย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
  • หนังสือนวมินทราศิรวาทราชสดุดี ร้อยกรองเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • หนังสือพระราชพิธีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร
  • หนังสือพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพในงานด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
  • หนังสือศาสตร์ของพระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
หนังสือทั้ง 4 เล่มนี้จัดพิมพ์โดย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
  • หนังสือเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจัดพิมพ์โดย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

สิ่งเทิดพระเกียรติอื่นๆ

สปริงกรุ๊ป ได้จัดทำสมุดภาพเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชุดสรรเสริญพระบารมี จำนวน 2 เล่ม เล่มแรกมีตอนเดียวคือ "นพพระภูมิบาล" ส่วนเล่มที่ 2 มี 4 ตอน คือ "เอกบรมจักริน" "พระสยามินทร์" "พระยศยิ่งยง" ซึ่งในสมุดภาพทั้งสองเล่มรวมสี่ตอนนี้จะเป็นการถ่ายทอดพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และตอนพิเศษ "ยงยศยงศักดา มหาวชิราลงกรณ" ซึ่งเป็นการถ่ายทอดพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รวมถึงยังได้รวบรวมเพลงสรรเสริญพระบารมีจำนวน 9 รูปแบบ มาไว้ในสมุดภาพเล่มที่ 2 ด้วย โดยผ่านการคัดสรรจากหน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

No comments:

Post a Comment