ของโบราณ,ของสะสม,ของเก่าโบราณ,ของเก่ามีราคา,ตลาดค้าของเก่า.ของเก่าวันนี้,antiquetoday

ของโบราณทรงคุณค่าของไทย

Saturday, October 14, 2017

ตราประทับ


ตราประทับ



ตราประทับเครื่อง รูปลูกคลื่น

ตราประทับ (postal marking) ในทางไปรษณีย์ หมายถึงการทำเครื่องหมายต่าง ๆ ลงบนซองจดหมาย หรือ สิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์ มีหลายประเภท มีทั้งตราที่ใช้ในงานไปรษณีย์ และตราสำหรับประทับเป็นที่ระลึกในการสะสมแสตมป์



    ตราประทับทางไปรษณีย์

    ตราประจำวัน

    แท่งตราประจำวัน พร้อมหมึก และแผ่นรองเวลาประทับด้วยมือ เป็นแบบที่ใช้ในประเทศไทย

    ตราที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ตราประจำวัน (postmark หรือ date stamp) ซึ่งแสดงชื่อที่ทำการไปรษณีย์ และวันเดือนปีที่ประทับ โดยไปรษณีย์ต้นทางจะประทับตราลงบนดวงแสตมป์โดยมีวัตถุประสงค์คือ เป็นการทำเครื่องหมายขีดค่า (cancel หรือ cancellation) ป้องกันการนำแสตมป์กลับมาใช้ใหม่ ส่วนไปรษณีย์ระหว่างทางและปลายทาง จะประทับตราลงด้านหลังจดหมายเพื่อเป็นหลักฐานการเดินทางของจดหมาย แต่ระยะหลังไม่ค่อยได้ประทับด้านหลังเนื่องจากปริมาณจดหมายที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาก และมีการคัดแยกจดหมายด้วยเครื่องอัตโนมัติ
    บางประเทศแยกตราออกเป็นสองส่วน คือ ตราประจำวัน และตราขีดฆ่า (killer) ซึ่งต้องประทับด้วยมือสองครั้ง โดยจะประทับตราขีดฆ่าบนดวงแสตมป์ ส่วนตราประจำวัน ประทับบนซองโดยไม่แตะต้องแสตมป์ เพื่อจะได้เห็นวันที่และที่ทำการไปรษณีย์ชัดเจนกว่าการประทับตราประจำวันอย่างเดียวบนแสตมป์หรือส่วนของแสตมป์
    ตราประจำวัน อาจประทับด้วยมือหรือด้วยเครื่องก็ได้ ซึ่งตราที่ประทับด้วยมือจะเป็นที่นิยมสะสมมากกว่า ตราที่ประทับด้วยเครื่อง (เรียกตราประทับเครื่อง, machine cancellation) อาจมีรายละเยดอื่น เช่น เวลาที่ประทับ และอาจมีส่วนที่เพิ่มเติมสำหรับการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ (เรียกตราสโลแกน, slogan cancel) หรือเป็นลักษณะลูกคลื่นหรือรูปธง (flag cancel) เพื่อให้ตราสามารถขีดฆ่าแสตมป์หลาย ๆ ดวงพร้อมกัน
    นอกจากนี้ วันที่บนตราประจำวันยังมีความสำคัญ สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง เช่น วันที่ส่งแบบฟอร์มการเสียภาษีทางไปรษณีย์ในหลายประเทศจะถือจากตราประจำวันเป็นหลัก ไม่ใช้วันที่หน่วยงานด้านภาษีได้รับจดหมาย

    ตราอื่น ๆ

    นอกเหนือจากตราประจำวันแล้ว ตราอื่น ๆ ที่มีใช้ในการไปรษณีย์ เช่น ตรา AV สำหรับช่วยในการคัดแยกจดหมายระหว่างประเทศ ตราสำหรับประทับเป็นป้ายลงทะเบียน ตราประทับสำหรับอธิบายสาเหตุที่ไม่สามารถส่งยังผู้รับปลายทางได้ ตราที่แสดงว่าจดหมายผ่านการเซ็นเซอร์ กล่าวคือมีการเปิดอ่านและตรวจแล้วว่าเนื้อหาไม่เป็นภัย พบในช่วงสงคราม เป็นต้น

    ตราประทับที่เกี่ยวข้องกับการสะสมแสตมป์


    ตราประจำวันที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว สุขสันต์ปีใหม่ 2532
    นอกเหนือจากตราประทับสำหรับใช้งานทั่วไปทางไปรษณีย์แล้ว ยังมีตราประทับที่จัดทำขึ้นสำหรับการสะสมโดยเฉพาะ ได้แก่

    ตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว

    เป็นตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ ที่เปิดให้บริการด้านไปรษณีย์ตามงานต่าง ๆ บางงานจะนำตราประจำวันจากที่ทำการไปรษณีย์ในท้องที่ไปให้ประทับตรา แต่ในหลายงานมีการออกแบบตราประจำวันเป็นพิเศษ และใช้งานเป็นเวลาจำกัด จึงมีคุณค่าต่อการสะสม ตัวอย่างเช่น ในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือ งานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ เป็นต้น ตราประจำวันดังกล่าวสามารถประทับได้เฉพาะในงานเท่านั้น เมื่อจบงานตราจะถูกเก็บเข้าคลังไม่สามารถหาประทับได้อีก

    ตราประทับวันแรกจำหน่าย

    ตราประทับวันแรกจำหน่าย เป็นตราที่ประทับลงบนซองวันแรกจำหน่ายหรือของสะสมอื่น ๆ มักปรากฏอยู่บนซองเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนซื้อ กล่าวคือนักสะสมไม่สามารถประทับตรานี้เองได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่วันแรกจำหน่าย

    ตราที่ระลึก


    ตราที่ระลึก แยกวันละตรา
    ตราที่ระลึก เป็นตรายางที่วางอยู่ในงานวันแรกจำหน่ายในไปรษณีย์ที่จัดงาน หรือตามงานต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์ไปเปิดบริการ (เช่น งานกาชาด) ตราที่ระลึกนี้นักสะสมสามารถประทับเองได้ โดยมีกฎเกณฑ์ (เพิ่งเพิ่มมาภายหลัง) ว่า ตราที่ระลึกจะต้องประทับบนดวงแสตมป์อย่างน้อยเท่ากับอัตราค่าส่งต่ำสุดทางไปรษณีย์ แต่มีอนุโลมในหลายกรณี เช่น เมื่อประทับบนซองวันแรกจำหน่าย

    นักสะสมกำลังประทับตราที่ระลึกในงาน โดยในภาพเป็นงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 20 ณ สยามพารากอนกรุงเทพมหานคร
    ตราที่ระลึก อาจเป็นตราเดียวตลอดทั้งงาน (เรียกตรารวม) หรือแยกวันละตรา (เรียกตราแยก) ถ้าเป็นเป็นแบบตราเดียวตลอดทั้งงาน ไปงานวันไหนก็สามารถประทับตรานั้นได้หมด สำหรับแบบที่แยกวันนั้น วิธีการสะสมจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ในอดีตวันแรกของงานจะมีแค่ตราที่ตรงกับวันแรก วันที่สองจะมีตราทั้งวันแรกและวันที่สอง ไล่ไปจนถึงวันสุดท้ายของงาน จะมีตราให้ประทับครบทุกวัน ส่วนปัจจุบันมักมีเฉพาะตราที่ตรงกับวันยกเว้นวันสุดท้ายที่มีตราครบทุกวัน นักสะสมสามารถสะสมตราแบบแยกให้ครบทุกตราได้สองวิธี
    • วิธีแรก ผู้ที่สะสมต้องไปตามงานต่าง ๆ เช่น งานกาชาด อย่างน้อยในวันแรกและวันสุดท้าย โดย ในวันแรกจะได้ตราประจำวันที่ตรงกับวันแรกจำหน่ายของแสตมป์ ส่วนวันสุดท้ายจะได้ตราที่ระลึกครบทุกวัน แต่ถ้าไปได้บ่อยจะได้ตราที่ระลึกที่ชัดเจนกว่า เพราะตราที่ระลึกทำจากยาง ตราที่ตรงกับวันแรก ๆ มักจะเริ่มสึกหรอเมื่อถึงช่วงวันสุดท้ายของงาน
    • วิธีที่สอง ในหลายงานจะมีการตั้งตู้ไปรษณีย์สำหรับรับจดหมายที่ต้องการประทับตรา ผู้สะสมต้องไปในวันแรก ทำซองจดหมายหรือไปรษณียบัตร จ่าหน้าถึงตัวเอง และติดแสตมป์ตามข้อกำหนด สำหรับประเทศไทย กำหนดให้ต้องติดแสตมป์สองส่วน ส่วนแรกสำหรับค่าส่งซึ่งจะประทับด้วยตราประจำวัน อีกส่วนซึ่งต้องติดเพิ่มเท่ากับอัตราค่าส่งจดหมายธรรมดาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประทับตราที่ระลึก และนำไปหย่อนในตู้ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตู้ก็จะตรงกับตราที่ระลึกหนึ่งตรา เมื่อถึงวันที่ตรงกับตราเจ้าหน้าที่จะนำจดหมายหรือไปรษณีย์บัตรออกจากตู้นั้นมาประทับและส่งทางไปรษณีย์ (แต่อาจไม่ได้ดังใจเหมือนประทับด้วยตัวเอง)
    งานบางงานที่จัดเป็นเวลานาน แทนที่จะให้แต่ละวันมีตราแยกกัน อาจจะกำหนดช่วงเวลาหนึ่ง ๆ สำหรับแต่ละตรา เช่น งานราชพฤกษ์ 2549 มีทั้งตรารวม (ซึ่งประทับได้ตลอดงาน 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549-31 มกราคม พ.ศ. 2550) กับตราในแต่ละช่วง ทั้งหมด 6 ช่วง ได้แก่ ดอกไม้นานาชาติ (1-12 พฤศจิกายน) อลังการจักรวาลดอกไม้ (10-16 พฤศจิกายน) ไม้น้ำและบัว (17-27 พฤศจิกายน) พันธุ์ไม้แปลก หายากและพันธุ์ใหม่ (1-11 ธันวาคม) ผักและผลไม้ (29 ธันวาคม-7 มกราคม) และ ไม้ใบกระถาง (20-31 มกราคม)

    ตราประจำงาน

    ตราประทับที่ประกอบด้วยชื่องาน ตลอดจนช่วงเวลาและสถานที่จัดงานนั้น เพื่อให้นักสะสมประทับลงบนสของสะสมเพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับงาน

    ตราประจำที่ทำการไปรษณีย์

    เป็นตราที่ ที่ทำการไปรษณีย์ บางแห่งจัดทำขึ้นเพื่อให้นักสะสมประทับตราเป็นที่ระลึก โดยเฉพาะที่ทำการไปรษณีย์ที่จัดงานวันแรกจำหน่ายแสตมป์อยู่เป็นประจำ สามารถไปขอประทับที่ทำการไปรษณีย์นั้น ๆ ร่วมกับตราประจำวันและตราที่ระลึกได้เมื่อมีการจัดงาน

    สีของตราประทับ

    ตราประจำวัน ปัจจุบันนิยมใช้สีดำ ส่วนตราอื่น ๆ หรือตราสำหรับการสะสมอาจมีสีอื่นก็ได้ เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน เป็นต้น
    ย้อนกลับไปสมัยที่ออกแสตมป์ดวงแรกของโลก คือ เพนนีแบล็ค (Penny Black) ของสหราชอาณาจักร เป็นแสตมป์ที่มีสีดำ ส่วนตราประทับใช้สีแดง แต่ปรากฏว่าสีแดงสามารถล้างออกได้ง่าย ทำให้สามารถนำแสตมป์มาใช้ใหม่ ทางไปรษณีย์จึงเปลี่ยนมาใช้ตราประจำวันสีดำ ส่วนแสตมป์เปลี่ยนเป็นสีแดง เรียก เพนนีเรด (Penny Red)
    ตราที่ระลึกระยะหลังมีการเพิ่มเทคนิค ใช้สีหลายสีเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ตราที่ระลึก แสตมป์ชุดปลาการ์ตูน (วันแรกจำหน่าย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2549) ของ ที่ทำการไปรษณีย์ปากน้ำ ที่ใช้สีเขียว แดง น้ำเงิน และดำภายในตราเดียว

    ตราตลก

    ตราประทับที่ทำขึ้น บางครั้งก็เกิดข้อผิดพลาด นิยมเรียกว่าตลก (ให้สอดคล้องกับแสตมป์ที่พิมพ์ผิดพลาดที่เรียก แสตมป์ตลก) เช่น ตราประจำวันตลก ตราที่ระลึกตลก เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสะกดคำผิด ตราดังกล่าวอาจยังใช้งานต่อไปหลังจากที่พบข้อผิดพลาด หรือเก็บกลับไปแก้ไขใหม่ 
    ตัวอย่างตราประจำวันตลกของไทยเมื่อไม่นานมานี้ คือ ตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว ภายในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตราสะกดผิดเป็น "งานฉลองศิริราชสมบัตรครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙" ข้อผิดพลาดดังกล่าวถูกตรวจพบหลังจากประทับตราไปจำนวนหนึ่ง และแก้ไขเสร็จในวันแรกของงานเป็น "งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙"

    วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


    No comments:

    Post a Comment