ยุคสมัยสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นยุคต้นของไทย มีวรรณคดี พงศาวดารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเกวียน เช่นใน เรื่องพระร่วงส่งส่วยน้ำ คนไทยได้ใช้เกวียนบรรทุกส่วยไปบรรณาการขอมผู้มีอำนาจ
สมัยต่อมา สมุหเทศาภิบาลใช้ "เกวียนด่าน"เดินทางจากอุบลราชธานีมายังกรุงเทพฯ โดยนั่งเกวียนคันหนึ่งมาแล้วเปลี่ยนนั่งคันใหม่ต่อกันเป็นทอด ๆ คนยุคก่อนเข้ามาเรียนหนังสือใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทางเข้ามาในเมืองและขนส่งสินค้าระหว่างเส้นทาง
เมื่อก่อนที่ยังไม่มีรถยนต์ใช้ ในการไปตรวจราชการท้องที่ของข้าราชการ ได้ใช้ส่วนกลางของเกวียนเป็นที่นอน ใช้ส่วนหน้าเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ ใช้ใต้ถุนเกวียนเป็นที่หุงหาอาหาร นับว่าเกวียนมีประโยชน์มาก
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ตรากฎข้อบังคับเพื่อใช้ควบคุมการใช้เกวียนนี้ขึ้น จึงนับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกว่าด้วยการใช้เกวียน แต่มีผลบังคับเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้ทรงดำริว่าขนาดของล้อ เกวียนให้กว้างเท่ากันทั่วราชอาณาจักร
พุทธศักราช 2460 กำหนดให้ล้อเลื่อนทุกชนิดในเขตพระนคร ต้องจดทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาตขับขี่ทุก ๆ ปี ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้มีประกาศพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พ.ศ. 2478 กำหนดให้เก็บค่าจดทะเบียนเกวียน เล่มละ 1 บาท นับตั้งแต่เริ่มใช้จนชั่วอายุเกวียน และผ่อนผันให้ผู้ขับขี่เกวียนไม่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่และนับตั้งแต่นั้นมาก็มิได้มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเกวียนอีกเลย
เกวียนมี ๒ ชนิด คือเกวียนวัวชนิดหนึ่ง เกวียนควายอีกชนิดหนึ่ง เกวียนวัว มีลักษณะเตี้ยและกว้างกว่าเกวียนควาย ใช้ในท้องถิ่นที่เป็นดอนมากกว่าที่ลุ่ม หรือในภูมิประเทศที่ค่อนข้างแห้งแล้ง เพราะวัวทนความร้อนได้ดีกว่าควาย จังหวัดที่ใช้เกวียนวัวกันมาก เช่น ลพบุรี สระบุรี นครราชสิมา อุดร ลำปาง เชียงใหม่ ฯลฯ เป็นต้น บางแห่งเรียกระแทะหรือบางทีก็เรียกล้อ วัวที่ใช้เทียมเกวียนใช้วัวคู่หนึ่ง ลากเกวียนไปข้างหน้า
ส่วนเกวียนควายมีลักษณะสูงและยาวกว่าเกวียนวัว ใช้ในภูมิภาคที่เป็นที่ลุ่มมากกว่าที่ดอน เช่น ในแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปราจีณบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรีเป็นต้น โดยปกติใช้ควายตัวเดียวเทียมลาก
No comments:
Post a Comment