ตั้งอยู่ที่ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี โบสถ์หลังนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวญวนผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดจันทบุรีก่อนปี พ.ศ. 2254 ซึ่งอพยพหนีภัยจากการบีบคั้นการเลือกถือศาสนาในขณะนั้น (ปลายสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กรุงศรีอยุธยา)
บาทหลวงเฮิ้ตเป็นผู้ดูแลกลุ่มคาทอลิกชาวญวน ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 130 คน ในปี พ.ศ. 2254 บาทหลวงและสัตบุรุษได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างวัดน้อยหลังแรกบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี
ระหว่างปี พ.ศ. 2273 – 2295 สมัยบาทหลวงกาเบรียลเป็นเจ้าอาวาสได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ เนื่องจากทางการได้จับชาวคาทอลิกไปอยู่ที่อยุธยา บางส่วนหลบหนีจากการจับกุมเข้าไปอยู่ในป่า วัดหลังที่ 1 จึงถูกทอดทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า
ปี พ.ศ. 2295 สมัยของบาทหลวงเดอกัวนาเป็นเจ้าอาวาส ได้รวบรวมชาวคาทอลิกที่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกันที่เดิม และรวมตัวกันสร้างวัดหลังที่ 2 ขึ้นด้วยไม้กระดานเก่า ๆ ประกอบด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบตาล
ปี พ.ศ. 2377 บาทหลวงมัทเทียโดและบาทหลวงเคลมังโช่ ได้ช่วยกันสร้างวัดหลังที่ 3 ขึ้นที่ฝั่งซ้าย โดยย้ายข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเป็นบริเวณที่วัดปัจจุบันตั้งอยู่ วัดนี้เป็นเพียงวัดเล็ก ๆ สร้างด้วยไม้กระดานเก่า ๆ และไม้ไผ่ ในขณะนั้นมีสัตบุรุษประมาณ 1,000 คน
ปี พ.ศ. 2381 บาทหลวงรังแฟงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เป็นระยะเวลาที่ชุมชนคาทอลิกเติบโตขึ้นมาก
จึงได้เริ่มก่อสร้างวัดหลังที่ 4 ขึ้น โดยมีสัตบุรุษได้ร่วมแรงร่วมใจและร่วมบริจาคทรัพย์ วัดหลังนี้มีลักษณะถาวรมากขึ้น มีการใช้อิฐ หิน และปูนในการก่อสร้างในขณะนั้นมีสัตบุรุษ 1,500 คน
ปี พ.ศ. 2443 บาทหลวงเปรีกาล ชาวฝรั่งเศส เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างวัดหลังที่ 5 ซึ่งเป็นวัดหลังปัจจุบัน โดยใช้สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่เรียกว่า "ศิลปะแบบโกธิค" มีความกว้าง 20 เมตร และยาว 60 เมตร
มียอดแหลมของหอทั้งสองข้าง แต่เมื่อ พ.ศ. 2483 ไทยเกิดมีกรณีพิพาทอินโดจีน จึงต้องเอายอดแหลมของหอทั้งสองออก ต่อมาทางการสั่งให้รื้อออก เพราะเกรงว่าจะเป็นเป้าของระเบิดทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หอสูงด้านขวามีนาฬิกาเรือนใหญ่ติดตั้งอยู่ เส้นรอบหน้าปัดวัดได้ 4.70 เมตร จากหอสูงนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองจันทบุรีได้ไกลประมาณ 2 กิโลเมตร
แต่สิ่งที่ทำให้โบสถ์หลังนี้มีความงดงามอีกอย่างหนึ่ง คือ การประดับกระจกสีเป็นภาพนักบุญทั้งหมด นับว่าเป็นสิ่งสวยงามล้ำค่าทั้งทางศิลปะและโบราณวัตถุควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป
เอกลักษณ์: แม่พระประดับพลอย มีความสูง 1.20 เมตร วัสดุที่นำมาสร้างประกอบด้วยทองคำบริสุทธิ์ เงินบริสุทธิ์ และพลอยบริสุทธิ์ เพื่อเทิดพระเกียรติให้เหมาะสมกับแม่พระ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์
และสง่างามให้ผู้พบเห็นได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลัง มีพิธีเสกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552
ศิลปะ:วัดหลังนี้ได้รับการประดับประดาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกด้วยศิลปะเก่าแก่อย่างสวยงาม มีคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะ ด้านความสวยงาม และด้านของโบราณ (Antiques)
ประกอบด้วยภาพกระจกสีที่เรียกว่า สเตนกลาส เป็นรูปของนักบุญหลายองค์ติดอยู่บริเวณเหนือพระแท่นบูชา และเหนือหน้าต่าง ทั้งทางด้านขวาและด้านซ้ายของสักการะสถาน กระจกสีเหล่านี้มีอายุรวม 100 ปี แต่สีสันยังเด่นชัด ไม่ลอกลบเลือนแต่อย่างใด นับว่าเป็นสิ่งงดงามหาค่ามิได้
ปัจจุบันโบสถ์วัดคาทอลิกจันทบุรีได้รับการยกย่องว่าเป็นโบสถ์วัดคาทอลิกที่เก่าและงดงามที่สุดในประเทศไทย
สถานที่ตั้ง110 หมู่ 5 ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี มีแม่น้ำจันทบุรีไหลผ่านบริเวณด้านหน้า ทางทิศเหนือของโบสถ์มีอาคารใช้ประกอบกิจกรรมของวัดได้แก่ อาคารสันติสุข (ศาลาพักศพ) เนิร์สเซอรี่ "ยอแซฟพิทักษ์" และหอประชุมนิรมล
ทางด้านทิศใต้มีบ้านพักพระสงฆ์ ถ้ำจำลองแม่พระเมืองลูร์ด อาคารแพร่ธรรม โรงเรียนสตรีมารดาพิพักษ์ และศูนย์กลางภคินีรักไม้กางเขน อยู่ภายใต้การดูแลของพระสังฆราช และคณะสงฆ์สังฆมณฑลจันทบุรี มีเจ้าอาวาสที่เคยปกครองวัดนี้มามากกว่า 20 องค์
No comments:
Post a Comment