GALLERY ANTIQUES

Tuesday, January 30, 2018

National Museum of Royal Barges:Thailand:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี


รูปแบบของเรือมีความหลากหลายต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศและลักษณะการใช้งาน  ในอดีตเคยมีการบัณทึกไว้ว่าเฉพาะเรือที่ใช้กันในเขตลุ่มแม่น้ำภาคกลางมีมากกว่า 20 ประเภท แต่มีเพียงไม่กี่รูปแบบที่ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน
เรือพระราชพิธี  เป็นเรือไทยอีกรูปแบบหนึ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นราชพาหนะ สำหรับพระมหากษัตริย์ในการเสด็จพระราชดำเนินนำกองทัพเรือไปต่อสู้กับอริราชศัตรูและ เพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ของราชสำนัก
รูปแบบของเรือมีลักษณะพิเศษอันสะท้อนถึงแบบแผนในราชสำนักไทยที่ยกย่องเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์สมมุติเทพ  อีกทั้งตัวเรือยังมีการประดับตกแต่งด้วยงานประณีตศิลป์อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี:National Museum of Royal Barges:เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ
จัดแสดงเรือพระราชพิธีสำคัญ 8 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ และเรือเอกไชยเหินหาว

1.เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โขนเรือเป็นรูปหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง (หมายถึง เรือที่เป็นเครื่องประดับยศ เป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูง มีโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นใดประทับเป็นแต่บางครั้ง โปรดฯ ให้เป็นเรือทรงผ้าไตรหรือผ้าทรงสะพักพระพุทธรูป หรือพานพุ่มดอกไม้) เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6
2.เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 กรมศิลปากรร่วมกับกองทัพเรือ และสำนักพระราชวังสร้างเรือลำนี้ใหม่ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรือพระที่นั่งต่อใหม่นี้ว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
3.เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช โขนเรือเป็นรูปนาค 7 เศียร เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยปรกติแล้ว เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ หรือผ้าพระกฐินในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
4.เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โขนเรือจำหลักลายปิดทองรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก
5.เรืออสุรวายุภักษ์ จัดว่าเป็นเรือรูปสัตว์ โขนเรือสลักเป็นรูปยักษ์ กายเป็นนกสีครามปิดทองประดับกระจก
6.เรือกระบี่ปราบเมืองมาร โขนเรือสลักรูปขุนกระบี่ ปิดทองประดับกระจก ไม่พบหลักฐานที่สร้าง เรือลำนี้ถูกระเบิดได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2510
7.เรือครุฑเหินเห็จ ไม่พบหลักฐานที่สร้าง เรือลำนี้ถูกระเบิดได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรจึงนำโขนเรือเดิมมาซ่อมแซมขึ้นใหม่จนถึงปัจจุบัน
8.เรือเอกชัยเหินหาว โขนเรือเขียนลวดลายเป็นรูปจระเข้หรือเหรา เรือลำนี้ได้ถูกระเบิดเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2487 และทำการตกแต่งซ่อมแซมตัวเรือใหม่เมื่อปี .ศ. 2508

นอกจากเรือพระที่นั่งและเรือต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว ยังมีเครื่องประกอบและสิ่งของเครื่องใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ จัดแสดงอยู่ด้วย เช่น บัลลังก์บุษบก บัลลังก์กัญญา พายชนิดต่าง ๆ และเครื่องแต่งกายของเหล่าฝีพาย
เดิมเป็นอู่หรือโรงเก็บเรือพระราชพิธี โดยมีสำนักพระราชวังและกองทัพเรือควบคุมดูแล เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่และเรือพระราชพิธีบางส่วนถูกระเบิดได้รับความเสียหาย และอยู่ในสภาพทรุดโทรมต่อมาอีกหลายปี
ในปี พ.ศ. 2490 สำนักพระราชวังและกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมเรือพระที่นั่งและเรือเก่าที่ใช้ในพระราชพิธี ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความงดงามทางศิลปกรรม
ในปี พ.ศ. 2517 กรมศิลปากรได้ขอขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่าง ๆ ให้เป็นมรดกของชาติ พร้อมกับยกฐานะของอู่เรือหลวงขึ้นเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี”
เส้นทางเข้าสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี
1. ทางเรือ เข้าทางคลองบางกอกน้อยอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟบางกอกน้อย
2. ทางบก เข้าทางซอยเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ที่เชิงสะพานอรุณอัมรินทร์  เข้าซอยอรุณอัมรินทร์ 24  ฝั่งที่ติดกับภัตตาคารเจ้าพระยา (ทางเข้าชุมชนวัดดุสิตาราม)

No comments:

Post a Comment