เสาเฉลียงเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สืบเนื่องมาจากกระบวนการกัดเซาะและกัดกร่อนด้วยอิทธิพลของน้ำและลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสึกกร่อนโดยแม่น้ำหรือธารน้ำไหลกัดเซาะเป็นเวลาชั่วนาตาปี เกิดขึ้นในชั้นหินที่วางตัวอยู่ในแนวราบหรือเกือบราบและในแต่ละชั้นมีส่วนประกอบของแร่ที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีความแข็งและทนทานที่ไม่เหมือนกัน
จากลักษณะเด่นของเสาเฉลียงที่ปรากฏให้เห็นแสดงความแตกต่างที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ในส่วนล่างที่เรียกว่าชั้นฐาน ความหนาจากพื้นที่ยืนอยู่ขึ้นไปประมาณ 70-100 เซนติเมตร เป็นชั้นหินทรายที่มีส่วนประกอบเป็นเม็ดทรายที่มีขนาดเท่า ๆ กัน ขนาดเล็กถึงปานกลางเป็นพวกควอรตซ์เป็นส่วนใหญ่
มีแร่หินฟันม้าบ้าง ในชั้นหินแสดงแนวชั้นเฉียงระดับที่เป็นตัวบ่งชี้ทิศทางการไหลของน้ำในสมัยโบราณ และมีเนื้อประสานที่เป็นซิลิกา ทำให้มีความคงทนต่อการกัดกร่อนเป็นอย่างดี ในส่วนถัดขึ้นมาคือส่วนที่ 2 หนาประมาณ 300 - 400 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายเสา ประกอบด้วยเม็ดทรายหยาบถึงหยาบมาก
บางครั้งเรียกเป็นชั้นหินกรวดมนขนาดเล็ก ประกอบด้วยเม็ดทรายหลายๆ ชนิดเช่น เม็ดควอรตซ์ เม็ดหินภูเขาไฟ และเม็ดหินเชิร์ต ในหินชั้นนี้มีความคงทนน้อยกว่าชั้นฐาน ส่วนบนสุดมีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายร่ม ประกอบด้วยหินทรายเป็นส่วนใหญ่และแสดงเป็นชั้นค่อนข้างดี มีทั้งชั้นทรายและทรายละเอียดแทรกสลับเห็นได้ชัดเจน ความหนาประมาณ 100 - 120 เซนติเมตร และมีความคงทนมาก
ข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี |
No comments:
Post a Comment