พระเครื่อง
พระเครื่องราง นิยมเรียกโดยย่อว่า พระเครื่อง หมายถึง พระพุทธรูปขนาดเล็ก สร้างไว้สำหรับบรรจุไว้ในเจดีย์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า อาจจะรวมถึงรูปสมมติขนาดเล็กของพระสงฆ์อริยบุคคล พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าด้วย
ประวัติการสร้าง
ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ผ่านพระเครื่องไว้ว่า พระเครื่องมีความเป็นมาและวิวัฒนาการอันยาวนาน ก่อนจะมาเป็นพระเครื่องนั้นได้เกิดพระพิมพ์ขึ้นมาก่อน เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไป คติการสร้างพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปและเลือนหายไปในที่สุด พระพิมพ์บางส่วนกลายมาเป็นพระเครื่อง พระพิมพ์เป็นของเก่าแก่ที่ได้มีผู้ทำขึ้นตั้งแต่ตอนต้นพุทธศาสนา มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย การแผ่ขยายอิทธิพลทางพุทธศาสนาไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้พระพิมพ์ซึ่งเป็นประติมากรรมเนื่องในคติทางพุทธศาสนาได้แผ่กระจายไปยังดินแดนต่าง ๆ พร้อมกับคำสอน ความเชื่อทางพุทธศาสนา พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาด้วย
พุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยราวสมัยทวารวดีพร้อมกับความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์ ในสมัยทวารวดีได้รับเอาคติความเชื่อของชาวอินเดียเข้ามาโดยตรงส่งผลให้การสร้างพระพิมพ์ในสมัยทวารวดีมีวัตถุประสงค์การสร้างเหมือนกับอินเดีย คือ การสร้างพระพิมพ์เพื่อสืบพระศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องปัญจอันตรธานซึ่งปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาแผ่ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ แต่ละพื้นที่ อาทิ พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัยได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญบุญเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ส่งผลให้การสร้างพระพิมพ์ในสมัยศรีวิชัยจากที่สร้างพระพิมพ์เพื่อสืบพระศาสนาเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายและเป็นการสะสมบุญเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ในภายหน้า เป็นต้น
ในสมัยอยุธยา เริ่มมีการสร้างพระพิมพ์เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ความศักดิ์สิทธิ์ และดลบันดาลให้เกิดอานุภาพต่าง ๆ สำหรับพกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเวลาไปสงครามแทนการพกเครื่องรางแบบเก่า เช่น ผ้าประเจียด (ผ้ายันต์ที่ใช้ผูกแขนหรือคล้องคอ) ตะกรุด พิสมร เป็นต้น ต่อมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เกิดการเปลี่ยนแนวคิดทางพุทธศาสนา อีกทั้งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและวิทยาการจากชาติตะวันตก การสร้างพระพิมพ์เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลังได้รับความนิยมมากขึ้น พระพิมพ์ที่สร้างเพื่อความเชื่อและความศรัทธาในพุทธคุณด้านต่างๆ เหล่านี้เรียกว่า “พระเครื่อง”
ความเชื่อและคตินิยม
- เครื่องรางส่วนใหญ่ การสร้างสร้างให้มีขนาดเล็กเพื่อที่จะสามารถสร้างได้จำนวนมาก สำหรับบรรจุในเจดีย์ เพื่อว่าในอนาคตเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมลง วัตถุต่างๆพังทลายยังสามารถพบรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนา
- ใช้เป็นเครื่องราง สำหรับคุ้มครองป้องกันในการออกศึกสงครามของคนโบราณ เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง
- ปัจจุบันนิยมนำมาห้อยคอเ ป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันและเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตตามความเชื่อปรัมปราของไทย
- วิกิพีเดีย
No comments:
Post a Comment